วันจันทร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2554

ออวุล (ovule)

        
ส่วนของเกสรเพศเมียอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญและมีองค์ประกอบที่สำคัญๆมากมาย ก็คือรังไข่ ดังที่ได้กล่าวถึงในหัวข้อที่แล้ว รังไข่เป็นส่วนที่อยู่ถัดจากก้านเกสรเพศเมียมาทาง ด้านล่าง ภายในรังไข่มีออวุลที่มีหน้าที่สำคัญในการสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย
     ออวุล ที่อยู่ในรังไข่ เป็นอับเมกะสปอร์ (megasporangium) พิเศษที่ห่อหุ้มแกมีโทไฟต์เพศเมีย (megagametophyte หรือ female gametophyte) หรือถุงเอ็มบริโอ (ดูหัวข้อที่ 13) นั่นเอง โดยที่ภายในถุงเอ็มบริโอนี้มีเซลล์ไข่ (ดูภาพที่ 33 และ 34 ส่วนท้าย) ทั้งหมดนี้ถูกห่อหุ้มด้วยนิวเซลลัส (nucellus) และผนังออวุล (integument) จำนวนหนึ่งหรือสองชั้น ออวุลเมื่อสุกแก่จะพัฒนาเป็นเมล็ดต่อไป
 ออวุลเป็นโครงสร้างที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยมี องค์ประกอบของออวุล ดังนี้ (ดูภาพที่ 28 และ 29 ประกอบ)

           
  
    1. นิวเซลลัส (nucellus) เป็นเนื้อเยื่อหุ้มถุงเอ็มบริโอที่กำลังพัฒนาอยู่ข้างในดังนั้น นิวเซลลัสก็คือผนังของอับเมกะสปอร์นั่นเอง ในบางครั้ง อาจถือว่านิวเซลลัสคืออับเมกะสปอร์ก็ได้
2.
ผนังออวุล (integument) เป็นชั้นหุ้มอับเมกะสปอร์โดยรอบ ยกเว้นช่องเปิดที่เรียกว่าไมโครไพล์ (micropyle) โดยหุ้มอยู่ภายนอกนิวเซลลัส ต่อไปผนังออวุลจะพัฒนาเป็นเปลือกเมล็ด (seed coat) ผนังออวุลนี้อาจจะมีเพียงชั้นเดียว (unitegmic) หรือสองชั้น (bitegmic) ก็ได้
3
. ก้านออวุล (funiculus) เป็นก้านที่ยึดผนังออวุลที่ห่อหุ้มนิวเซลลัสและมีออวุลอยู่ภายในให้ติดกับพลาเซนตา (ดูภาพที่ 4) ของรังไข่ ในบางครั้ง หากดูเผินๆจะเหมือนกับว่าออวุลเกิดขึ้นมาจากบริเวณพลาเซนตานี่เอง จำนวนออวุลที่เกิดในบริเวณนี้อาจจะมีเพียงหนึ่งจนถึงมากมาย แล้วแต่ชนิดพืช
4
. ไมโครไพล์ (micropyle) เป็นช่องเปิดเล็กๆที่ผนังออวุล สำหรับให้หลอดเรณู (ดูหัวข้อที่ 9) เจริญเข้าไปหาออวุล
 5.
ฐานออวุล (chalaza) เป็นบริเวณที่ไม่อาจจะระบุได้ชัดเจน โดยทั่วไป หมายถึงบริเวณที่นิวเซลลัส ผนังออวุล และก้านออวุลมาพบกัน บริเวณนี้อยู่ตรงข้ามไมโครไพล์
              



                                  
  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น